War Communism (-)

ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม (-)

 ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลโซเวียตซึ่งนำโดยวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* กำหนดขึ้นเพื่อควบคุมระบบเศรษฐกิจจากส่วนกลาง และเพื่อทดลองรูปแบบการผลิตและการแจกจ่ายผลผลิตตามแบบเศรษฐกิจสังคมนิยม รัฐบาลโซเวียตประกาศใช้ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๑๘ ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ วัตถุประสงค์หลักของระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามคือ การยึดโอนอุตสาหกรรมเอกชนเป็นของรัฐและควบคุมอุตสาหกรรมทั้งหมดจากส่วนกลางการบังคับชาวนาให้ส่งผลผลิต “ส่วนเกิน” ทางเกษตรแก่รัฐเพื่อรัฐจะนำไปจัดสรรให้โรงงานอุตสาหกรรมในส่วนที่เป็นวัตถุดิบและแจกจ่ายส่วนที่เป็นอาหารให้แก่กรรมกร ทหาร และประชาชน แม้แกนนำพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* หลายคน เช่น เลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* นีโคไล บูฮาริน (Nikolai Bukharin)* และนักทฤษฎีพรรค เช่น เยฟเกนี เปรโอบราเจนสกี (Evgeny Preobrazhensky) จะสนับสนุนระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามเพราะเห็นว่าเป็นการก้าวกระโดดไปสู่ระบอบสังคมนิยม และทำให้รูปแบบการผลิตแบบสังคมนิยมได้ก่อตัวขึ้นแทนการผลิตแบบกึ่งทุนนิยม จนรัสเซียสามารถพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมตามแนวความคิดลัทธิมากซ์ (Marxism)* ได้สำเร็จ แต่ปัญหาทางการเมืองเศรษฐกิจ และสังคมที่เป็นผลจากสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘–๑๙๒๑)* ทุพภิกขภัยและสงครามชาวนาระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐–๑๙๒๑ รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อและอื่น ๆ ทำให้การดำเนินนโยบายระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามไม่บรรลุเป้าหมาย เลนินจึงเสนอนโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป (New Economic Policy–NEP)* ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๑๐ ของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตระหว่างวันที่ ๘–๑๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ เพื่อใช้แทนระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ที่ประชุมใหญ่ก็มีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของเลนิน

 หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ รัฐบาลโซเวียตพยายามแก้ไขวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นผลสืบเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ด้วยการประกาศปฏิรูปที่ดินโดยยกเลิกกรรมสิทธิ์ของเจ้าที่ดินทั้งหมดและให้โอนที่ดินรวมทั้งปศุสัตว์และเครื่องมือในการผลิตมาอยู่ใต้การกำกับควบคุมของคณะกรรมาธิการที่ดินท้องถิ่นแห่งสภาโซเวียตที่จัดตั้งขึ้นทั่วประเทศ มีการจัดตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสูงสุด (Supreme Council of National Economy) หรือที่เรียกว่าเวเซนคา (Vesenkha) ขึ้นในกลางเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ เพื่อกำหนดแผนและนโยบายจากส่วนกลางในการบังคับควบคุมเศรษฐกิจทุกภาคส่วนและการสร้างความเป็นเอกภาพในการดำเนินงานต่าง ๆ ระหว่างองค์การส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ตลอดจนการประสานงานกับสหภาพแรงงานสภาคนงาน และสภาโซเวียต ในปลายเดือนธันวาคมเวเซนคาให้โอนกิจการธนาคารเอกชนทั้งหมดเข้ารวมกับธนาคารแห่งชาติและประกาศยกเลิกหนี้สินทั้งภายในและภายนอกประเทศที่รัฐบาลในสมัยซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* และรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีอะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* เป็นผู้นำได้ก่อไว้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๘ มีการประกาศควบคุมการค้าระหว่างประเทศทุกประเภทรวมทั้งการค้าภายในที่สำคัญ ในเดือนมิถุนายน รัฐบาลโซเวียตประกาศโอนอุตสาหกรรมทั้งหมดเป็นของรัฐและเริ่มเข้าควบคุมร้านค้าและธุรกิจขนาดเล็กจนสามารถควบคุมได้หมดในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ลดปริมาณการพิมพ์ธนบัตรเพื่อจะยกเลิกการใช้เงินตราและเริ่มดำเนินการให้บริการแบบให้เปล่าด้านการคมนาคมขนส่ง ที่พักอาศัย ไฟฟ้า น้ำ ไปรษณีย์และอื่น ๆ แก่ประชาชน

 อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจัดระบบเศรษฐกิจของรัฐบาลโซเวียตในระยะแรกก็ไม่อาจช่วยให้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่เสื่อมทรุดของประเทศดีขึ้น เนื่องจากการแทรกแซงด้วยกำลังทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรได้นำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองรัสเซียในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ กองกำลังของฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติหรือรัสเซียขาวในบริเวณลุ่มแม่น้ำดอน (Don) ซึ่งมีนายพลมีฮาอิล วาซีเลียวิช อะเล็คเซเยฟ (Mikhail Vasilyevich Alekseyev)* และนายพลลาฟร์ คอร์นีลอฟ (Lavr Kornilov)* เป็นผู้บัญชาการได้รับการหนุนช่วยจากฝ่ายสัมพันธมิตรจนสามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะแถบยูรัล ไซบีเรีย วอลกา และคอเคซัสทางตอนเหนือ ในขณะเดียวกันกองทหารเยอรมันก็เข้ายึดครองยูเครนซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญของประเทศ เมื่อกองทัพเรือของอังกฤษปิดกั้นเส้นทางทะเลบอลติก การนำเข้าวัตถุดิบต่างประเทศก็หยุดชะงักและส่งผลให้การผลิตด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว

 ในช่วงเวลาที่สงครามกลางเมืองกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ รัฐบาลโซเวียตสามารถควบคุมแหล่งทรัพยากรและเศรษฐกิจที่สำคัญได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น ควบคุมแหล่งถ่านหินได้เพียงร้อยละ ๑๐ แหล่งสินแร่เหล็กร้อยละ๑๕แหล่งแร่เหล็กและเหล็กกล้าร้อยละ ๒๕ พื้นที่เพาะปลูกได้น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ แหล่งผลิตหัวบีตที่ใช้ทำน้ำตาลได้น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ การคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะเส้นทางรถไฟที่เสียหายอย่างหนักและถูกตัดขาดทำให้การค้าขายแลกเปลี่ยนทั้งภายในและนอกประเทศหยุดชะงักและใน ค.ศ. ๑๙๑๙ เส้นทางรถไฟส่วนใหญ่ใช้เพื่อจุดมุ่งหมายทางทหารเท่านั้น นอกจากนี้ การที่อังกฤษเข้ายึดครองแหล่งผลิตน้ำมันที่บาคู (Baku) และกรอซนืย (Grozny) ตลอดจนการสูญเสียเขตดอนบัส (Donbas) ซึ่งเป็นแหล่งเชื้อเพลิงให้แก่ฝ่ายรัสเซียขาวได้ทำให้เกิดความเดือดร้อนและหายนะมากขึ้น ปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ในการบริโภคใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ลดลงเหลือเพียงร้อยละ ๔๐ และร้อยละ ๕๐ ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ และ ค.ศ. ๑๙๑๗ ตามลำดับ ผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงอย่างมากและในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๘ ร้อยละ ๓๘ ของอุตสาหกรรมหยุดนิ่งและในปีรุ่งขึ้นก็ลดจำนวนลงอีก

 ในสภาวะที่รัฐบาลโซเวียตต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลต้องระดมทรัพยากรและกำลังคนทั้งหมดเข้าสู่สงครามพร้อมชูคำขวัญว่า “ทุกสิ่งเพื่อสงคราม” (Everything for thewar) นโยบายดังกล่าวทำให้รัฐบาลซึ่งต้องการเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่อำนาจรัฐโซเวียตต้องปรับโครงสร้างการบริหารด้วยวิธีสั่งการและควบคุมอย่างเคร่งครัดจากส่วนกลาง รัฐบาลจึงประกาศใช้ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามขึ้นในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๘ เพื่อบริหารควบคุมเศรษฐกิจและควบคุมเสบียงอาหารเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาความอดอยากเป็นภัยคุกคามรัฐบาลตลอดจนกำหนดเขตแนวหลังทั้งหมดให้หนุนช่วยแนวหน้าเพื่อชัยชนะ

 การประกาศใช้ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามไม่ได้มีการเตรียมการใด ๆ มาก่อน แต่เกิดจากความต้องการจะสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมตามอุดมการณ์ลัทธิมากซ์ และความจำเป็นเฉพาะหน้าที่สืบเนื่องจากสงครามกลางเมือง รัฐบาลยกเลิกการใช้เงินตราและเข้าควบคุมการจัดสรรทรัพยากรทั้งหมดทั้งยกเลิกการค้าเอกชนและเข้าบริหารควบคุมเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ ใช้นโยบายประกันสังคมและจัดระบบการจัดหาสิ่งของจำเป็นต่าง ๆ แบบให้เปล่า รวมทั้งตั้งคอมมูนผู้อุปโภคและระบบการปันส่วนเครื่องอุปโภคบริโภคขึ้นมีการนำระบบบังคับเกณฑ์แรงงานมาใช้กับพลเมืองชายทุกคน และในบางกรณีก็บังคับใช้แรงงานเด็กและผู้หญิงด้วย นโยบายหลักที่สำคัญของระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามคือ “โปรดรัซเวียร์สตคา” (Prodrazverstka)ซึ่งหมายถึงการบีบบังคับให้ชาวนาจัดส่งผลผลิต “ส่วนเกิน” ทางเกษตรให้แก่รัฐเพื่อรัฐจะจัดสรรให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมในรูปของวัตถุดิบและแจกจ่ายให้กรรมกร ทหาร และพลเรือนในรูปของอาหาร การควบคุมบังคับผลผลิตส่วนเกินจากชาวนาดังกล่าวมีส่วนทำให้ชาวนาขาดแรงกระตุ้นที่จะทำการผลิต และยังได้รับความลำบากเดือดร้อนมากด้วยเพราะผลผลิตมีราคาต่ำและได้รับค่าตอบแทนเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคทางอุตสาหกรรมไม่เพียงพอในเวลาต่อมาชาวนาและกรรมกรจึงหันมาต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลและก่อการจลาจลขึ้นไม่ขาดระยะ เมื่อเกิดสภาวะฝนแล้งและอากาศวิปริตอย่างรุนแรงในภาคตะวันออกและตะวันตกเฉียงใต้ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐–๑๙๒๑ ประชาชนกว่า ๓ ล้านคนก็เสียชีวิตด้วยโรคภัยและความอดอยาก และวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจก็เลวร้ายลงอีก

 สงครามกลางเมืองทำให้รัฐบาลโซเวียตต้องเร่งดำเนินการยึดวิสาหกิจอุตสาหกรรมทุกประเภทมาเป็นของรัฐเพื่อป้องกันฝ่ายศัตรูทำลายหรือสร้างความเสียหายแก่ธุรกิจอุตสาหกรรมรวมทั้งเพื่อควบคุมการผลิตให้ตอบสนองความต้องการของกองทัพ แต่การยึดโอนอุตสาหกรรมเป็นของรัฐไม่ได้ทำให้เป้าหมายของรัฐบาลโซเวียตที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตให้มากขึ้นบรรลุผล เพราะนายทุนและผู้จัดการโรงงานส่วนใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือและต่างลี้ภัยออกนอกประเทศเครื่องจักรตามโรงงานต่าง ๆ จำนวนมากยังถูกทำลายเสียหายจนไม่สามารถดำเนินการได้ สภาคนงาน (worker’s council) ที่เข้าควบคุมบริหารโรงงานอยู่ชั่วระยะหนึ่งก็ไม่ได้เตรียมแผนงานหรือดำเนินการบริหารที่เหมาะสม ทั้งมีขีดความสามารถด้านการบริหารต่ำการกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดแบบทหารในกองทัพมาใช้ยังสร้างความไม่พอใจให้แก่กรรมกรกรรมกรจำนวนไม่น้อยจึงต่อต้านด้วยการทิ้งงานหนีกลับไปชนบท นอกจากนี้เวเซนคายังบริหารงานไม่เป็นเอกภาพและขัดแย้งกับสภาเศรษฐกิจส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานย่อยทางเศรษฐกิจอื่น ๆ การจัดการเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจึงตกอยู่ในสภาพไร้ระเบียบ ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ผลผลิตอุตสาหกรรมหนักผลิตได้เพียงร้อยละ ๑๘ และอุตสาหกรรมเบาผลิตได้น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ เมื่อเทียบกับการผลิตในช่วงก่อนสงครามรัฐบาลโซเวียตพยายามหาทางแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าวด้วยการยกเลิกกฤษฎีกาเรื่องการควบคุมของกรรมกรและปรับระบบการบริหารและการประสานงานระหว่างคณะกรรมาธิการโรงงานสหภาพแรงงานกับรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและความคล่องตัวมากขึ้นรวมทั้งปรับโครงสร้างการบริหารและกลไกการดำเนินงานระหว่างเวเซนคากับสภาเศรษฐกิจส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น

 ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ รัฐบาลออกกฎหมายเกณฑ์แรงงาน (labour conscription) โดยกำหนดให้พลเมืองชายที่อายุระหว่าง ๑๖–๕๐ ปี และพลเมืองหญิงที่อายุระหว่าง ๑๖–๔๐ ปี มาทำงานประจำหรือเป็นครั้งคราวตามความต้องการของรัฐ ทั้งให้ทหารที่ไม่ได้ปฏิบัติการรบมาทำงานร่วมกับพลเรือนด้วย สหภาพแรงงานมีหน้าที่ควบคุมและเกณฑ์แรงงานพลเรือนเพื่อทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมและเขตเกษตรกรรมที่สำคัญ ๆ ระหว่างเดือนมกราคมถึงตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ มีการออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อเกณฑ์แรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญต่าง ๆ เป็นต้นว่า อุตสาหกรรมต่อเรือ ก่อสร้าง ขนส่ง การบิน และอื่น ๆ วัตถุประสงค์สำคัญของการควบคุมและเกณฑ์แรงงานดังกล่าวคือการสร้างกองทัพคนงาน (labour army) ขึ้นเพื่อเสริมกำลังทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ในกลาง ค.ศ. ๑๙๒๐ มีการออกกฤษฎีกาสภาการป้องกันของชาวนาและกรรมกร (Decree on Worker’s and Peasants’ Council of Defense) เพื่อเกณฑ์แรงงานในการสนับสนุนกองทัพตามความจำเป็นและเหมาะสม และมีกฎหมายห้ามการโยกย้ายเปลี่ยนงานด้วย

 ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามทำให้รัฐบาลโซเวียตมีบทบาทและอำนาจเข้มแข็งมากขึ้นในการดำเนินงานสร้างความเป็นเอกภาพทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคม รัฐบาลเข้าควบคุมสหภาพแรงงานและวางแนวนโยบายให้สหภาพแรงงานมีหน้าที่หลักในการส่งเสริมการผลิตและการระดมแรงงานเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สหภาพแรงงานซึ่งเคยทำหน้าที่ปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของคนงานกลายเป็นหน่วยงานใต้การกำกับของรัฐโดยมีหน้าที่เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีส่วนทำให้สมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยรวมตัวกันเป็น “กลุ่มฝ่ายค้านของคนงาน” (Worker’s Opposition) ภายในพรรคเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการควบคุมสหภาพแรงงานและเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค

 ในการดำเนินนโยบายด้านเกษตรกรรมในช่วงระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามนั้น เป้าหมายหลักของรัฐบาลโซเวียตคือการใช้ระบบการรวมอำนาจการผลิตแบบนารวม (collectivization) เพื่อเร่งรัดการเพิ่มผลผลิตและการพัฒนาเกษตรกรรมให้เป็นระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม โดยยกเลิกกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งของส่วนบุคคลและชุมชนหรือคอมมูน และให้ชาวนาเป็นลูกจ้างของรัฐโดยเข้าอยู่ในระบบนารวม (collective farm) และนารัฐ (state farm) ระบบนารวมหมายถึงการนำที่ดิน ปศุสัตว์ และเครื่องมือการผลิตของชาวนาแต่ละคนมารวมกันเป็นนารวมขนาดใหญ่ จัดการบริหารและดูแลร่วมกันในรูปแบบสหกรณ์ สมาชิกแต่ละคนจะได้รับผลผลิตตามแรงงานที่ทำและผลผลิตส่วนหนึ่งจะแบ่งปันให้รัฐและแบ่งปันกันในหมู่สมาชิกหรือนำไปจัดจำหน่ายเพื่อเป็นผลประโยชน์ของสมาชิกทั้งหมด สมาชิกนารวมอาจมีที่ดินแปลงเล็ก ๆ ของตนเองเพื่อปลูกพืชผักหรือทำสวน แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า ๒.๔ เอเคอร์ไม่ได้ ส่วนนารัฐหมายถึงรัฐเป็นเจ้าของที่ดินและเครื่องมือการผลิตโดยชาวนามีฐานะเป็นแรงงานที่ได้รับค่าตอบแทนในอัตราคงที่ตามที่รัฐกำหนด นารัฐต้องปลูกพืชพันธุ์ตามรัฐกำหนดและมีการบริหารควบคุมที่เข้มงวด ทั้งเครื่องจักรที่นำมาใช้จะมีคุณภาพและการดูแลควบคุมที่ดีกว่าของนารวมนอกจากนี้ รัฐบาลยังใช้มาตรการบังคับเกณฑ์ผลผลิตส่วนเกินทางเกษตรมาเป็นของรัฐเพื่อจัดสรรเป็นเสบียงให้แก่ชาวเมืองและกองทัพแดง (Red Army)*

 ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๘ รัฐบาลออกกฎหมายว่าด้วยเกษตรกรรมหลายฉบับซึ่งมีจุดมุ่งหมายจะกำจัดชาวนารวยและชาวนาระดับกลางที่เรียกว่าพวก “คูลัค” (kulak) ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าเป็นกลุ่มที่กักตุนผลผลิตเพื่อค้ากำไรและเป็นภัยทางเศรษฐกิจในวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ มีการออกกฤษฎีกาจัดตั้งระบบเผด็จการเสบียงอาหาร (foodsupply dictatorship) ขึ้นตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบและควบคุมผลผลิต และบีบบังคับชาวนารวยให้มอบผลผลิตที่กักตุนไว้ให้แก่รัฐ ชาวนารวยที่ต่อต้านจะถูกประกาศเป็น “ศัตรูของประชาชน” และต้องถูกคุมขังไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี ทั้งอาจถูกขับไล่ออกจากการเป็นสมาชิกคอมมูนด้วย มีการปลุกระดมชาวนายากจนให้ทำสงครามกับพวกชาวนารวยให้ถึงที่สุด

 ต่อมาในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๘ รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อชาวนายากจน (committees of the poor peasants) หรือคอมเบดี (kombedy) ขึ้นเพื่อดำเนินการกวาดล้างชาวนารวยและทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมจำนวนผลิตผลทางเกษตรที่ชาวนาแต่ละครอบครัวจะสามารถใช้ยังชีพและเก็บไว้เพื่อการเพาะปลูก และการจัดส่งผลิตผลที่เหลือส่วนใหญ่ให้แก่รัฐ คอมเบดียังต้องคอยช่วยเหลือการดำเนินงานของหน่วยเกณฑ์เสบียงท้องถิ่นในการเก็บและขนย้ายข้าวและผลผลิตทางเกษตรของพวกคูลัคเพื่อนำไปจ่ายแจกแก่ชุมชนรวมทั้งโน้มน้าวจูงใจชาวนาให้เข้าสังกัดระบบนารวมตลอดจนดำเนินการปรับเปลี่ยนการถือครองที่ดินให้เข้าสู่ระบบสังคมนิยมอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ชาวนาส่วนใหญ่มักเก็บซ่อนข้าวหรือผลผลิตไว้ เมื่อรัฐบาลกวดขันบังคับให้ส่งผลผลิต ชาวนาก็มักใช้กำลังและความรุนแรงตอบโต้ การต่อต้านดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการรุนแรงด้วยการจับชาวนาแขวนคอเพื่อข่มขวัญและเพื่อเป็นแบบอย่างไม่ให้ชาวนาก่อการแข็งข้ออีก อย่างไรก็ตาม ปัญหาการดำเนินงานและตลาดมืดมีส่วนทำให้รัฐบาลยุบเลิกคอมเบดีและกำหนดวิธีการบังคับเกณฑ์ผลผลิตแทนในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘

 ในการบังคับเกณฑ์ผลผลิตส่วนเกินทางเกษตรเป็นของรัฐจะมีการกำหนดขนาดพื้นที่การเพาะปลูกและจำนวนผลผลิตที่หมู่บ้านหรือคอมมูนแต่ละแห่งจะสามารถเก็บไว้ใช้และจำนวนผลผลิตที่ต้องส่งให้รัฐทั้งกำหนดว่ามีจังหวัดหรือพื้นที่เขตใดบ้างที่จะต้องถูกบังคับเกณฑ์และต้องจัดส่งข้าว อาหารแห้งหรือฟางให้แก่รัฐเป็นจำนวนเท่าใด ในระยะแรกมีการใช้บังคับเกณฑ์ผลผลิตเฉพาะข้าวเท่านั้น แต่ต่อมาได้ขยายขอบเขตรวมผลผลิตเกษตรอื่น ๆ ด้วย เช่น มันฝรั่ง เนื้อสัตว์ เนย รัฐบาลคาดหวังว่าวิธีการบังคับเกณฑ์ผลผลิตกระตุ้นจูงใจชาวนาให้ทำการผลิตมากขึ้นเพราะหากผลิตได้มากก็สามารถจัดส่งผลผลิตให้รัฐได้ตามเกณฑ์ที่ถูกกำหนดและผลผลิตที่เหลือจะเป็นของชาวนา แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ชาวนาต้องส่งมอบผลผลิตให้รัฐถึงร้อยละ ๗๐ ส่วนผลผลิตที่เหลือก็ไม่พอเพียงเพราะนอกจากการใช้เพื่อยังชีพและเก็บไว้เพาะปลูกในฤดูกาลหน้าแล้ว ชาวนายังต้องจ่ายภาษีเป็นผลผลิตด้วย นอกจากนี้ ปัญหาความล้าหลังทางเกษตรกรรมและเครื่องมือเครื่องใช้ในการเพาะปลูกที่ไม่ทันสมัยตลอดจนภาวะสงครามที่ดำรงอยู่ ทำให้ชาวนาขาดแรงจูงใจที่จะทำการผลิต ปริมาณผลผลิตทางเกษตรกรรมจึงลดลงอย่างมาก

 ในการดำเนินนโยบายบังคับเกณฑ์ผลผลิตนั้นรัฐบาลได้จัดส่งเชกา (CHEKA)* หรือตำรวจลับ และหน่วยเกณฑ์เสบียง (food detachments) ซึ่งแต่ละหน่วยประกอบด้วยคนงานและทหารติดอาวุธรวมประมาณ ๒๕ คน ลงสู่ชนบทเพื่อรวบรวมผลผลิตส่วนเกินจากชาวนาและพวกคูลัคเพื่อนำมาจัดสรรให้เขตเมืองและกองทัพแดง ขณะเดียวกันมีการจัดตั้งกองทัพเสบียง (food army) ซึ่งอยู่ใต้การควบคุมของ รัฐมนตรีพลาธิการ (Military-Supply Commissariat) คอยหนุนช่วยการปฏิบัติงานของเชกาและหน่วยเกณฑ์เสบียง ประมาณว่ามีทหารจำนวน ๗๕,๐๐๐ นาย และพลเรือนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนงานติดอาวุธจำนวน ๕๐,๐๐๐ คน เข้าปฏิบัติการในการบังคับเกณฑ์ผลผลิตชาวนาต่อต้านด้วยการผลิตในจำนวนจำกัดและลดปริมาณการผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ ลงด้วย หากมีผลผลิตเหลือก็มักซุกซ่อนและนำไปขายในตลาดมืดหรือทำลาย แต่เชกาและหน่วยเกณฑ์เสบียงจะบีบเค้นชาวนาอย่างรุนแรงทุกรูปแบบและมักยึดทุกสิ่งทุกอย่างที่พิจารณาว่าเป็นผลผลิต “ส่วนเกิน” ของชาวนาเพื่อจัดส่งให้รัฐตามจำนวนที่กำหนด และส่วนที่เหลือก็มักจะแบ่งสรรกันเอง การบังคับเกณฑ์ผลผลิตจึงนำไปสู่การลุกฮือก่อกบฏของชาวนาซึ่งต่อสู้ปะทะกันอย่างรุนแรงและนองเลือดระหว่างชาวนากับเจ้าหน้าที่รัฐระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐–๑๙๒๑ การลุกฮือก่อกบฏของชาวนาจำนวนมากเกิดขึ้นในแถบไซบีเรียตะวันตกยูเครนและรัสเซียตอนกลางโดยเฉพาะที่จังหวัดตัมบอฟ (Tambov) ซึ่งห่างจากกรุงมอสโกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๓๕๐ กิโลเมตร แต่กบฏชาวนาที่สำคัญเกิดขึ้นในยูเครนโดยมีเนสเตอร์ มัคโน (Nestor Makhno)* นักชาตินิยมชาวยูเครนเป็นผู้นำ

 นอกจากนี้ ชาวนาส่วนใหญ่ยังต่อต้านระบบการรวมอำนาจการผลิตแบบนารวม แม้รัฐบาลจะพยายามโน้มน้าวจูงใจด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนปศุสัตว์และเครื่องมือในการผลิตแต่ชาวนาก็ไม่ประสงค์จะเข้าสังกัดทั้งในระบบนารวมและนารัฐเพราะต้องการทำงานอย่างอิสระในที่ดินของตนเอง การนำระบบนารวมและนารัฐมาใช้เพื่อพัฒนาระบบเกษตรสังคมนิยมจึงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งรัฐบาลก็ขาดบุคลากรที่จะมาบริหารงานให้มีประสิทธิภาพด้วย

 ในช่วงการดำเนินนโยบายระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามนั้น รัฐบาลโซเวียตได้ยกเลิกการค้าเอกชนและเข้าผูกขาดการค้าทั้งด้านการจำหน่ายและการจัดซื้อ ในปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ การค้าภายในและนอกประเทศของเอกชนทั้งหมดจึงถูกยกเลิกและรัฐเข้าดำเนินการจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน แต่การดำเนินงานของรัฐบาลก็ประสบผลสำเร็จไม่มากนักเพราะผลผลิตทางด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมตกต่ำและลดปริมาณลงอย่างมาก ประชาชนหันไปพึ่งตลาดมืดกันมากขึ้นและแม้จะมีการจับกุมและยึดสินค้าที่แพร่กระจายนอกระบบบ่อยครั้ง แต่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมและปราบปรามการค้าในตลาดมืดได้หมด สินค้าและวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมจำนวนมากถูกลักลอบนำไปซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนกันในตลาดมืด คนงานก็แอบขโมยวัสดุอุปกรณ์ของโรงงานโดยนำไปประดิษฐ์เป็นสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านและครัวเรือนที่จำเป็นอื่น ๆประชาชนจำนวนไม่น้อยกลายเป็นนักเก็งกำไรเพราะสามารถหารายได้ในตลาดมืดมาจุนเจือครอบครัวได้พอเพียง

 ระบบการจัดเก็บภาษีที่ล้มเหลวยังทำให้ขาดแคลนเงินตราที่ใช้หมุนเวียน ภาวะเงินเฟ้อก็ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลโซเวียตแก้ปัญหาด้วยการจัดพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อใช้จ่าย ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ มีเงินหมุนเวียน ๓๓,๖๗๖ ล้านรูเบิล ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ และ ค.ศ. ๑๙๒๐ เพิ่มเป็น ๑๖๓,๖๘๙ ล้านรูเบิล และ ๙๔๓,๕๘๑ ล้านรูเบิล ตามลำดับ ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๙ รัฐบาลยังจัดพิมพ์เงินโซเวียตชนิดใหม่เพื่อใช้ควบคู่กับเงินตราในระบบเก่า และธนาคารแห่งรัฐก็ได้รับอนุมัติให้พิมพ์ธนบัตรให้มากที่สุดเท่าที่ตลาดต้องการ นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นยังจัดพิมพ์เงินตราขึ้นใช้เองเพื่อให้รายจ่ายสมดุลกับรายรับ โดยรัฐบาลกลางไม่สามารถควบคุมการดำเนินการดังกล่าวได้กระแสเงินที่แพร่สะพัดอย่างมหาศาลดังกล่าวจึงไม่เพียงจะทำลายระบบสินเชื่อและการเงินการธนาคารเท่านั้น แต่ยังทำให้ค่าของเงินต่ำลงอย่างมากและสินค้าอุปโภคบริโภคก็มีราคาสูงมากจนนำไปสู่การเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง

 ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นสูงมากทำให้รัฐบาลต้องใช้ระบบแลกเปลี่ยนด้วยสิ่งของแทนที่ระบบเงินตรา และจ่ายค่าตอบแทนให้แก่แรงงานตามความจำเป็นมากกว่าที่จะจ่ายตามผลงาน มีการกำหนดระบบการปันส่วนให้พลเมือง ๔ กลุ่ม ตามสถานภาพของชนชั้นโดยปันส่วน ดังต่อไปนี้ (๑) กรรมกรที่ใช้แรงงานหนักและทหารแดงได้ร้อยละ ๔๐ (๒) กรรมกรที่ใช้ฝีมือได้ร้อยละ ๓๐ (๓) เจ้าหน้าที่และลูกจ้างของรัฐบาลและบริษัทเอกชนตลอดจนผู้มีอาชีพอิสระอื่น ๆ ได้ร้อยละ ๒๐ และ (๔) นายทุน เจ้าที่ดิน และพวกกาฝากสังคมเช่นพวกชาวนารวยได้ร้อยละ๑๐ แต่ระบบการปันส่วนก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความอดอยากเดือดร้อนของประชาชนได้มากนัก

 ภาวะเศรษฐกิจที่หยุดนิ่งและเงินเฟ้อสูงยังถูกกระหน่ำซ้ำด้วยภาวะฝนแล้งทางภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ และ ค.ศ. ๑๙๒๑ จนนำไปสู่ภาวะข้าวยากหมากแพง ทั้งทุพภิกขภัยระหว่างฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๒๐–๑๙๒๑ ก็ทำให้ประชาชนต่างเดือดร้อนลำเค็ญกันทั่ว ประมาณว่าประชากรจำนวน ๓ ล้านคนเสียชีวิตเพราะความอดอยากและโรคระบาดความบีบคั้นกดดันของประชาชนสะท้อนออกด้วยการชุมนุมก่อการจลาจลขึ้นทั่วไปตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ เมื่อรัฐบาลประกาศลดการปันส่วนขนมปังในกรุงมอสโกลงเหลือเพียง ๑ ใน ๓ ชาวเมืองต่างบุกปล้นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้า ในกลางเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๑ กรรมกรก่อการจลาจลและเดินขบวนไปตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้เพิ่มการปันส่วนอาหารและยกเลิกการบังคับเกณฑ์ผลผลิตรวมทั้งให้มีการค้าเสรี การประท้วงของกรรมกรได้แผ่ขยายไปยังนครเปโตรกราด (Petrograd) ซึ่งขาดแคลนทั้งอาหารและเชื้อเพลิงและตกอยู่ในภาวะวิกฤตที่เลวร้ายกว่าเมืองใหญ่อื่น ๆ

 รัฐบาลพยายามควบคุมสถานการณ์และสลายการชุมนุมด้วยการสั่งให้จัดตั้งกองกำลังป้องกันขึ้นเพื่อปราบปรามการชุมนุมประท้วงและประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วนครเปโตรกราด ทั้งยังห้ามการจับกลุ่มชุมนุมทุกเวลา มีการใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมและการจับกุมผู้ประท้วงก็มีขึ้นไม่ขาดระยะสหภาพแรงงานหลายแห่งถูกยุบเลิกและสมาชิกถูกจับขัง สภาพการณ์ในนครเปโตรกราดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๑ จึงมีความคล้ายคลึงกับช่วงเหตุการณ์การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ข่าวการก่อจลาจลและความอดอยากของประชาชนรวมทั้งการใช้มาตรการรุนแรงของรัฐบาลที่แพร่มาถึงฐานทัพเรือครอนชตัดท์ (Kronstadt) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเปโตรกราดไปทางตะวันตกประมาณ ๓๐ กิโลเมตร สร้างความโกรธแค้นให้แก่ทหารและกะลาสีเรือที่ครอนชตัดท์อย่างมากพวกเขาจึงก่อกบฏต่อต้านรัฐบาลขึ้นในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๑

 รัฐบาลโซเวียตระดมกำลังเข้าปราบปรามกบฏครอนชตัดท์ (Kronstadt Mutiny)* อย่างเด็ดขาดเพราะเห็นว่ากบฏดังกล่าวเป็นภัยที่ร้ายแรงมากยิ่งกว่าการรวมพลังกันของฝ่ายกบฏรัสเซียขาวของกองทัพนายพลอันตอน เดนีกิน (Anton Denikin)* และพลเรือเอก อะเล็กซานเดอร์ คอลชาค (Alexander Kolchak)* เสียอีก เนื่องจากเป็นกบฏของฝ่ายทหารที่เคยสนับสนุนการปฏิวัติและเป็นกบฏของมวลชนที่ต่อต้านอำนาจรัฐโซเวียต รัฐบาลโซเวียตยังกล่าวหาว่ากบฏครอนชตัดท์เป็นแผนก่อการร้ายของฝ่ายรัสเซียขาวที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การชาวรัสเซียลี้ภัยนอกประเทศ รวมทั้งพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party)* และพรรคเมนเชวิค (Menshevik)* ผลสำคัญของกบฏครอนชตัดท์คือนานาประเทศต่างประวิงเวลาที่จะยอมรับรองสถานภาพของสหภาพโซเวียตในประชาคมโลกและการประกาศยกเลิกระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามในการประชุมใหญ่ ครั้งที่ ๑๐ ของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับข้อเสนอในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจของเลนินด้วยการกำหนดใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่นโยบายเศรษฐกิจใหม่จึงกลายเป็นนโยบายหลักทางเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตตลอดช่วงทศวรรษ ๑๙๒๐ และทำให้ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามสิ้นสุดลง.



คำตั้ง
War Communism
คำเทียบ
ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม
คำสำคัญ
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สหภาพโซเวียต
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- เลนิน, วลาดีมีร์
- กองทัพแดง
- ลัทธิมากซ์
- กบฏครอนชตัดท์
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- คอร์นีลอฟ, ลาฟร์
- คอลชาค, อะเล็กซานเดอร์
- เคเรนสกี, อะเล็กซานเดอร์
- เชกา
- ตรอตสกี, เลออน
- เดนีกิน, อันตอน
- นโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป
- บูฮาริน, นีโคไล
- บอลเชวิค
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคเมนเชวิค
- พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ
- มัคโน, เนสเตอร์
- เมนเชวิค
- ยูเครน
- ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม
- สหภาพแรงงาน
- อะเล็คเซเยฟ, มีฮาอิล วาซีเลียวิช
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-